Friday, May 9, 2014

เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดู ในวงบ่อซีเมนต์

เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดู ในวงบ่อซีเมนต์



การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่มีเนื้อที่น้อย ดินปลูกพืชอื่น ๆ ไม่เหมาสม ผู้ที่สนใจด้านการเกษตร สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ดี โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนมะนาวจะมีราคาสูงทุกปีประมาณผลละ 2 – 7 บาท
การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถบังคับให้ออกดอก ออกผล ตามวัน เวลาที่เราต้องการได้ ผลผลิตประมาณ 150 – 750 ผลต่อต้น ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุต้น และการปฏิบัติดูแลรักษา ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการดังนี้



1. การคัดเลือกพันธุ์
มะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ใช้ได้ทุกพันธุ์ แต่ที่สำคัญต้องเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการมีการออกดอก ติดผลง่าย ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ เปลือกบาง มีน้ำมาก มีกลิ่นหอม และทนทานต่อโรคและแมลง พันธุ์ที่ตลาดนิยม ได้แก่ พันธุ์แป้นรำไพ แป้นจริยา พันธุ์พิจิตร 1และพันธุ์ตาฮิติ เป็นต้น พันธุ์พิจิตร 1 และพันธุ์ตาฮิติ เป็นมะนาวที่ทนทานต่อโรคแคงเกอร์ที่ผล ใบ และลำต้น ดีกว่าทุกพันธุ์

2. การเตรียมวงบ่อซีเมนต์
ควรใช้วงบ่อซีเมนต์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 – 100 ซม. สูง 40 – 60 ซม. ที่ด้านล่าง
หรือก้นบ่อ ควรมีฝาซีเมนต์วงกลมขนาด 80 – 90 ซม.รองรับอยู่ด้านล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้รากมะนาวหยั่งลงดินนอกก้นบ่อ บังคับออกผลนอกฤดูได้ยาก

3. การวางบ่อซีเมนต์
เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานควรวางวงบ่อเป็นแถวเป็นแนว ถ้ามีพื้นที่จำกัด ควรวางแถวเดียวระยะ 2 x 2 เมตร หรือ 2 x 3 เมตร แต่ถ้ามีพื้นที่มาก ควรวางวงบ่อแบบแถวคู่ 2 x 2 เมตร แต่ละคู่ห่างกัน 3 – 4 เมตร

4. การเตรียมดินปลูก
ดินที่ใช้ควรเป็นดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เหมือนการปลูกไม้กระถางทั่วไป
เป็นดินชั้นบนที่เป็นดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์สูง โดยใช้ดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วตักใส่วงบ่อ กดดินหรือ
ขึ้นเหยียบดิน โดยเฉพาะบริเวณขอบบ่อด้านล่างให้แน่น พูนดินสูงจากปากบ่อ 20 – 30 ซม.
เผื่อดินยุบตัวภายหลัง

5. การปลูก
นำต้นพันธุ์มะนาวจากต้นกิ่งตอน ต้นปักชำ หรือต้นต่อยอดที่สมบูรณ์แข็งแรงดีมาปลูกตรงกลางวงบ่อ โดยขุดหลุมเล็กน้อย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15 – 15 – 15อัตรา 100 – 150 กรัมต่อหลุม ใช้มีดกรีดก้นถุงพลาสติกสีดำโดยรอบแล้วนำต้นมะนาวไปวางในหลุม กลบดินเล็กน้อย ใช้มีดกรีดถุงพลาสติกที่เหลือออก กลบดินกดดินให้แน่น ใช้ไม้ไผ่ปักหลักกันลมโยกแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
ให้น้ำ ใช้สายยางรดน้ำหรือต่อระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์รดน้ำมะนาว 1 – 2 วันต่อครั้ง หรือวันละ 1 ครั้ง เฉพาะเวลาเช้า


6. การปฏิบัติดูแลรักษา
  • การให้น้ำ ใช้สายยางรดน้ำหรือต่อระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์รดน้ำมะนาว 1 – 2 วันต่อครั้ง หรือวันละ 1 ครั้ง เฉพาะเวลาเช้า
  • การใส่ปุ๋ย หลังจากปลูกมะนาวได้ 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโต โดยใช้ปุ๋ย 15 – 15 – 15 หรือ 16 – 16 – 16 และปุ๋ยยูเรียเล็กน้อย อัตรา100 – 150 กรัม หรือครึ่งกำมือต่อต้น ใส่เดือนละครั้ง ในระยะบังคับให้ออกดอก ควรใส่ปุ๋ยสูตร 12 – 24 – 12 สูตร 15 – 30 – 15 หรือใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง อัตรา 100 – 150 กรัมต่อต้น
  • การคลุมโคนต้น หลังจากปลูกแล้วควรใช้เศษฟางข้าว หญ้าแห้งแกลบดิบ กาบมะพร้าว ฯลฯ คลุมโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและคลุมวัชพืชในวงบ่อด้วย
  • การตัดแต่งกิ่ง ถ้าต้นมะนาวสมบูรณ์ดีมะนาวจะแตกกิ่งเล็ก ๆ จำนวนมากควรตัดกิ่งที่ไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่ซ้อนกัน กิ่งที่อยู่ด้านล่างของต้น รวมทั้งกิ่งที่เป็นโรคออกเหลือกิ่งหลัก ๆ กระจายไปทุกต้น ไม่ควรหนักไปทางทิศใดทิศหนึ่งมากเกินไป เมื่อมะนาวออกผลอาจหักและล้มได้
  • การค้ำกิ่ง มะนาวที่ปลูกในวงบ่อ มีการกระจายรากจำกัด ในพื้นที่ที่มีลมแรง เมื่อมะนาวติดผลดกมากกิ่งอาจหักหรือโค่นล้มได้ ควรป้องกันโดยการใช้ไม้ไผ่ค้ำยันกิ่งและลำต้นมะนาวแบบนั่งร้านสี่เหลี่ยมหรือปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยม ให้มะนาวทุกต้นด้วย
  • การเพิ่มดินปลูก หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตและตัดแต่งกิ่งมะนาวแต่ละปีควรนำดินร่วนผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตราส่วน ดินร่วน 1 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน หรือดินร่วน 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ผสมปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 อัตรา 100 – 150 กรัมผสมให้เข้ากันดีแล้ว นำมาใส่เพิ่มในวงบ่อให้เต็มปากบ่อ มีลักษณะพูนขึ้นเล็กน้อย

7. โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
  • โรคที่สำคัญโรคแคงเเกอร์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียป้องกันกำจัดโดยการใช้พันธุ์ทนทานมาปลูก เช่น พันธุ์พิจิตร 1 พันธุ์ตาฮิติ ตัดแต่งกิ่ง ใบและผลที่เป็นโรคไปเผาทำลาย และพ่นสารเคมี เช่น สารแคงเกอร์เอ็กซ์โรครากเน่าและโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟทอปเทอรา ป้องกันกำจัดโดยไม่ควรปลูกมะนาวลึกเกินไป ไม่นำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักสดที่ยังไม่สลายตัวดีมาเป็นวัสดุปลูกใช้สารเมทาแลคซิลละลายน้ำรดบริเวณโคนต้นที่เป็นโรคโรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคยางไหล โรคใบแก้ว โรคทริสเทซ่าและโรคราดำป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับพืชสกุลส้มทั่วไป
  • แมลงศัตรูที่สำคัญหนอนชอนใบ การป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งยอดอ่อน ใบอ่อนที่มีไข่หรือหนอนไปเผาทำลายและพ่นสารเคมี ได้แก่ สารคาร์บาริลหรือสารคาร์โบซัลแฟนเพลี้ยไฟ การป้องกันกำจัด พ่นสารเคมี คาร์โบซัลแฟนหรืออิมิดาโคลพริดไรแดง การป้องกันกำจัด พ่นกำมะถันผงชนิดละลายน้ำในช่วงตอนเช้าหรือเย็นหรือพ่นด้วยสารไดโคฟอล เช่น เคลเทน เป็นต้น เพื่อรักษาผิวผลไม่ให้ขรุขระหรือกระด้างไม่น่ารับประทานเพลี้ยหอย การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งมะนาวที่พบเพลี้ยหอยระบาดไปเผาทำลาย หรือพ่นสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์

8. การบังคับต้นมะนาวในวงบ่อให้ออกดอกติดผลนอกฤดู
ต้นมะนาวที่จะบังคับให้ออกผลนอกฤดูนั้น ควรมีอายุอย่างน้อย 8 เดือนขึ้นไปส่วนมะนาวที่มีอายุมากกว่า 1 ปีและเคยออกดอกติดผลแล้ว ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคมควรเด็ดดอกและผลมะนาวในฤดูออกให้หมด ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ส่วนใหญ่จะมีฝนตกอยู่ควรงดการให้น้ำ พอถึงช่วปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ให้นำผ้าพลาสติกที่กันฝน ขนาดกว้าง 1 – 1.5 เมตร ยาว 1.5 – 2 เมตร มาคลุมรอบวงบ่อไว้ โดยให้ชายด้านหนึ่งมัดติดกับโคนต้นมะนาว ให้สูงจากพื้นดินปากบ่อ 20 – 30 ซม. คลุมไว้ประมาณ 10 – 15 วันสังเกตใบมะนาวมีอาการเริ่มเหี่ยว ใบสลด อาจมีใบร่วงบ้างหรือเหี่ยวประมาณ 75 – 80 %ให้นำผ้าพลาสติกออกแล้วให้น้ำพร้อมกับปุ๋ยสูตร 12 – 24 – 12 ต้นละ 100 – 150 กรัมซึ่งถ้าต้นมะนาวสมบูรณ์ดี หลังจากให้น้ำและปุ๋ยประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นมะนาวจะผลิตาดอกหรือแตกใบอ่อน พร้อมออกดอก ช่วงนี้ต้องหมั่นดูแลรักษาไม่ให้ศัตรูมาทำลายมะนาวโดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอนชอนใบ เป็นต้น

9. การเก็บเกี่ยว
หลังจากมะนาวออกดอก ติดผลได้ 4 – 5 เดือน จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสู่ตลาดได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์และช่วงเดือนที่บังคับ ไม่ควรปล่อยให้ผลมะนาวที่แก่แล้วอยู่บนต้นนาน ๆ เป็นการสิ้นเปลืองอาหารมาเลี้ยงผล อาจทำให้ต้นทรุดโทรมได้


No comments: