Friday, May 9, 2014

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า


ปัจจุบันการเพาะเห็ดฟางได้รับความนิยมเป็นอย่างมากด้วยเพราะให้ผลตอบแทนเร็วเพียง 7 – 9 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้ต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถเพาะได้ทุกพื้นที่ รูปแบบการเพาะมีหลากหลาย เช่น การเพาะแบบกองเตี้ย แบบโรงเรือนโดยใช้วัสดุเพาะที่แตกต่างกัน การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถเพาะได้ในพื้นที่ซ้ำเดิมได้วัสดุเพาะไม่สัมผัสกับพื้นดิน ต่างกับการเพาะแบบกองเตี้ยที่จำเป็นต้องพักพื้นที่หรือเปลี่ยนพื้นที่เพาะ ต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะแบบโรงเรือน และเห็ดฟาง อุดมด้วยโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัสสูง แต่ให้พลังงานต่ำ จึงได้รับความนิยมบริโภคสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ ไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ





วัสดุและอุปกรณ์
  • หัวเชื้อเห็ดฟาง ควรเป็นเชื้อที่ไม่แก่ ไม่อ่อนเกินไป และปราศจากเชื้อราอื่น
  • ตะกร้าเพาะเห็ด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูง 11 นิ้วมีช่องขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้านล่างมีช่องระบายน้ำ
  • วัสดุเพาะ เช่น ก้อนเชื้อเห็ดเก่า ฟางข้าว ต้นกล้วย ชานอ้อย เป็นต้น
  • อาหารเสริม เช่น ผักตบชวา มูลวัว ไส้นุ่น รำละเอียด
  • อาหารกระตุ้นหัวเชื้อ ได้แก่ แป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว
  • พลาสติกคลุม
  • สุ่มไก่ หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ทำเป็นโครง
  • น้ำที่ใสสะอาด เช่น น้ำบ่อ น้ำคลอง ถ้าเป็นน้ำประปาควรมีการพักน้ำไว้ก่อน

การเตรียมพื้นที่
ควรเป็นพื้นที่ราบเรียบ สม่ำเสมอ และน้ำท่วมไม่ถึง ป้องกันลม และแสงแดดได้ถ้าเป็นพื้นที่ใต้ร่มเงาจะต้องมีการพรางแสงเพิ่มบ้างในช่วงที่แสงแดดมาก ถ้าเป็นพื้นที่กลางแจ้งควรพรางแสงให้มากกว่าใต้ร่มไม้และควรเป็นพื้นที่ที่ป้องกันการรบกวนจากสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ

วิธีการเพาะ
1. นำเชื้อเห็ดฟางขนาด 1 ปอนด์ แกะออกจากถุงและฉีกหัวเชื้อเห็ดฟางเป็นชิ้นเล็ก แล้วโรยแป้งสาลี
หรือแป้งข้าวเหนียว 1 ช้อนโต๊ะ คลุกเคล้าให้เข้ากัน จัดการแบ่งเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน ( สามารถทำได้ 2 ตะกร้า )
2. นำวัสดุเพาะได้แก่ ก้อนเชื้อเห็ดถุงเก่าหรือฟางข้าว ( หรือวัสดุอื่น )มารองก้นตะกร้าให้มีความสูงประมาณ 2 – 3 นิ้ว หรือสูงถึง 2 ช่องล่างของตะกร้า แล้วโรยอาหารเสริม ( ผักตบชวา ) รอบ ๆ ขอบตะกร้า ตรงกลางไม่ต้องใส่หนาประมาณ 1 นิ้ว หรือสูงประมาณ 1 ช่องตะกร้า
3. นำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน วางรอบตะกร้าให้ชิดขอบตะกร้าเป็นจุด ๆ 
เสร็จชั้นที่ 1
4. ให้ปฏิบัติเช่นเดิมตามข้อ 1 – 3 เสร็จชั้นที่ 2
5. ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 และ 2 แต่โรยอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ด้านบน
หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยเชื้อเห็ดฟางให้เต็มพื้นที่ โดยกระจายเป็นจุดรอบ ๆ
ตะกร้า ให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน
6. โรยวัสดุเพาะด้านบนอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
1. นำตะกร้าที่ได้ไปวางไว้บนพื้นโรงเรือน หรือชั้นโครงเหล็กที่เตรียมไว้ โดยทั่วไปให้วางตะกร้า 4 ใบ ( สำหรับ 1 สุ่ม ) โดยตะกร้า 3 ใบวางชิดกัน ห่างกระโจมหรือโครงไม้ไผ่ทรงสุ่มไก่ ประมาณ 1 คืบ แล้วนำพลาสติกมาคลุมโครงไม้ไผ่ทรงสุ่มไก่ จากด้านบนถึงพื้น พลาสติกต้องไม่สัมผัสกับตะกร้าโดยตรงคลุมพลาสติกให้มิดชิด นำอิฐหรือไม้ทับขอบพลาสติกเพื่อป้องกันพลาสติกเปิดออก
2. วันที่ 1 ถึง 4 วันแรกหลังเพาะ ในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน และวันที่ 1 ถึง 7 วันแรกหลังเพาะในช่วงฤดูหนาว ต้องควบคุมอุณหภูมิ ในกระโจมหรือโรงเรือนให้อยู่ในช่วงระหว่าง 37 – 40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 38 องศาเซลเซียสถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป ให้เปิดช่องลมระบายอากาศด้านบนของโรงเรือนโดยเปิดช่องให้ความร้อนค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ หากเปิดช่องระบายมากเกินไป ความร้อนลดลงกะทันหันจะมีผลทำให้เส้นใยเห็ดฟางช็อค อาจมีผลทำให้เห็ดไม่ออกดอกหรือ ออกดอกน้อย ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่ากำหนด ต้องปิดช่องระบายอากาศให้มิดชิดถ้าหากมีอุณหภูมิต่ำเกินไปจะทำให้ดอกเจริญเติบโตช้าแต่ดอกที่ได้นั้นจะมีขนาดโตและหนัก ตรงกันข้ามถ้าหากอุณหภูมิสูงจะทำให้ดอกเห็ดโตเร็ว ปลอกหุ้มบางและบานง่าย แต่ถ้าอุณหภูมิสูงมากเกินไปแล้วก็อาจทำให้ดอกเห็ดไม่เจริญเติบโตได้ ต้องควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ในกระโจม โดยสังเกตจากการหยดน้ำเกาะพลาสติกที่คลุมถ้าไม่มีหยดน้ำเกาะให้รดน้ำที่พื้นดินและสามารถเปิดกระโจมในวันที่ 4 ในฤดูร้อนหรือฤดูฝน ถ้าเป็นฤดูหนาวให้เปิดในวันที่ 6หรือ 8 ของการเพาะ

3. ระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 ต้องควบคุมอุณหภูมิ ภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง28 – 32 องศาเซลเซียส ในช่วง 5 หรือ 7 วัน จะมีการรวมตัวกันของเส้นใยเมื่อเป็นดอกเล็ก ๆ จำนวนมากมาย ห้ามเปิดพลาสติกหรือโรงเรือนบ่อยเพราะจะทำให้ดอกฝ่อ
4. ประมาณวันที่ 7 ถึงวันที่ 8 ในฤดูร้อน หรือวันที่ 9 ถึงวันที่10 ในฤดูหนาวเห็ดฟางเริ่มให้ดอกขนาดโต จนถึงเก็บเกี่ยวได้
5. การเก็บเกี่ยวควรทำในตอนเช้ามืด เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ปลอกยังไม่แตก และดอกยังไม่บานเพราะถ้าปล่อยให้ปลอกแตกและดอกบานแล้วค่อยเก็บจะทำให้ขายได้ราคาต่ำการเก็บใช้มีดสะอาดตัดโคนดอกเห็ด ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอก ควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โตและฝ่อตายไป

ผลผลิตเห็ดฟางสามารถเก็บได้ 2 – 3 ครั้ง ต่อตะกร้าต่อวันได้ผลผลิตเฉลี่ย7 ขีด — 1 กิโลกรัม ต่อตะกร้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เพาะ การดูแลรักษา ฤดูกาล และวิธีการปฏิบัติ

ต้นทุนและผลตอบแทน
  • ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยครั้งที่ 1 60 – 80 บาทต่อตะกร้า
  • ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยครั้งที่ 2 – 6 20 – 40 บาทต่อตะกร้า
  • ราคาขายผลผลิตเห็ดโดยเฉลี่ย 70 บาทต่อกิโลกรัม
  • ดังนั้น ผลกำไรเฉลี่ย 10 – 15 บาทต่อกิโลกรัม


No comments: